วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ ๖ พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

(ร่าย)       กษณะนั้นนเรนทร์ไท้ ธให้โหรหามมหุติฤกษ์ ซึ่งจะเบิกพยุหบาตรา จึ่งพระโหราผู้รู้โศลก หลวงญาณโยคโลกทีป รีบคำนวณทำนาย ถวายพยากรณ์แก่ไท้ ท้าวธได้จัตุรงคโชค อาจปราบโลกลาญรงค์ เชิญบาทบงสุ์เสด็จคลา จากอโยธยายามเช้า เข้ารวิวารมหันต์ วันสิบเอ็ดขึ้นค่ำย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท ในบุษยมาสดฤษถี ศรีสวัสดิ์ฤกษ์อุดม บรมนรินทร์ดาลสดับ ธให้ตรวจทัพเตรียมพล โดยชลมารคพยู่ห์ สู่ตำบลปากโมก ครั้นณวันโชควันยาม พยุหสงครามเขาตรวจ ทุกหมู่หมวดสรรพเสร็จ จึ่งสมเด็จภูวนาถ กับบรมราชอนุชา ธก็สรงธาราเสาวรภย์ ตรลบสุคนธกำจร ทรงบวรวิภูษา รัตพัสตราครูเนตร ชายแครงเทศเถือกพร้อย ชายไหวห้อยเห็นเพรา พิศสนับพลายรรยง ฉลองพระองค์แลเลิศ ทับทรวงเพริศพรายพริ้ง สะอิ้งรัตนไพฑูรย์ แก้วเกยูรสวมหัตถ์ แสงนพรัตน์มลังเมลือง เรืองธำมรงค์รุ้งร่วง ช่วงพรรเหาเก้าแก้ว แพร้วพรายนิ้วอัษฎางค์ พลางสองกษัตริย์สวมทรง อลงกตกาญจนมกุฎ แสงเพชรผุดพุ่งแพร้ว แก้เก้ากอบแกมมาศ นาดกรกรายทายธนู ดูสองเจ้าจอมสยาม เฉกลักษณ์รามรอนราพณ์ ปราบอเรนทร์ทุกด้าว พลางบพิตรไทท้าว ท่านเยื้องยังฉนวน น้ำนา ฯลฯ
๏ ครั้นควรพิชัยฤกษ์พร้อม                   เพรียงสมัย
โหรคระหึมฆ้องชัย                               กึกก้อง
พฤฒิพราหมณ์พรอกมนตร์ไสย          สังข์เป่า  ถวายนา
แตรตรลบเสียงซ้อง                             แซ่ซั้นบรรสาน  ฯลฯ
(ร่าย)       พลันขยายพยุหบาตรา คลาเข้าโขลนทวาเรศ สงฆ์สวดชเยศพุทธมนต์ ปรายประชลเฉลิมทัพ ตามตำรับราชรณยุทธ์  โบกกบี่ธุชคลาพล ยลนาวาดาดาษ ดูสระพราศสระพรั่ง คั่งคับขอบคงคา แลมเหาฬาร์พันลึก อธึกท้องแถวธาร ถับถึงสถานปากโมก จึ่งพระจอมโลกลือเดช เสด็จเถลิงนิเวศวังทาง พลางธให้ตรวจเตรียมพล โดยสถลพยุหบาตร บอกพระราชกำหนด กฎแก่ขุนทัพขุนพล จักยกหพลยาตรา ในเวลาล่วงค่ำ ย่ำสิบเอ็ดสามบาท ครั้นเข้าราษตรีสมัย ภูวไนยตรัสตริการ ซึ่งจะรอนราญอริราช ด้วยภิมุขมาตยากร จนจันทรลับเลื่อน เคลื่อนเข้าตติยยาม เจ้าจอมสยามไสยาสน์ เหนือบรมอาสน์ก่องแก้ว คล้ายคล้ายสิบทุ่มแคล้ว ท่านเคลิ้มหลับฝัน ใฝ่นา
โคลง๔
๏ เทวัญแสดงเหตุให้             สังหรณ์ เห็นแฮ
เห็นกระแสสาคร                   หลั่งล้น
ไหลลบวนาดอน                   แดนตก ทิศนา
พระแต่เพ่งฤๅพ้น                   ที่น้ำหนองสาย
๏ พระกรายกรย่างเยื้อง         จรลี
ลุยมหาวารี                             เรี่ยวกว้าง
พอพานพะกุมภีล์                   หนึ่งใหญ่ ไสร้นา
โถมปะทะเจ้าช้าง                  จักเคี้ยวขบองค์
๏ พระทรงแสงดาบแก้ว        กับกร
โจมประจักฟันฟอน             เฟื่องน้ำ
ต่างฤทธิ์ต่างรบรอบ              ราญชีพ กันแฮ
สระท้านทุกถิ่นท่าถ้ำ             ท่งท้องชลธี
๏ นฤบดีโถมถีบสู้                    ศึกธาร
ฟอนฟาดสุงสุมาร                  มอดม้วย
สายสินธุ์ซึ่งนองพนานต์        หายเหือด แห้งแฮ
พระเร่งปรีดาด้วย                  เผด็จเสี้ยนเศิกกษัย
๏ ทันใดดิลกเจ้า                     จอมถวัลย์
สร่างผทมถวิลฝัน                  ห่อนรู้
พระหาพระโหรพลัน            พลางบอก ฝันนา
เร็วเร่งทายโดยกระทู้            ที่ถ้อยตูแถลง
๏ พระโหรเห็นแจ้งจบ          ในมูล ฝันแฮ
ถวายพยากรณ์ทูล                  แต่ไท้
สุบินบดินทร์สูร                    ฝันใฝ่ นั้นฤๅ
หากเทพสังหรณ์ให้               ธิราชรู้เป็นกล
๏ นุสนธิ์ซึ่งน่านน้ำ                นองพนา สณฑ์เฮย
หนปัจฉิมทิศา                        ท่วมไซร้
คือทัพอริรา-                         มัญหมู่ นี้นา
สมดั่งลักษณ์ฝันไท้                ธเรศนั้นอย่าแหนง
๏ เหตุแสดงแห่งราชพ้อง      ภัยชลา
ได้แก่อุปราชา                        เชษฐ์ผู้
สงครามซึ่งเสด็จครา              นี้ใหญ่ หลวงแฮ
แท้จักถึงยุทธ์สู้                       ศึกช้างสองชน
๏ ซึ่งผจญอริราชด้วย             เดชะ
เพื่อพระเดโชชนะ                 ศึกน้ำ
คือองค์อมิตรพระ                     จักมอด เมือเฮย
เพราะพระหัตถ์หากห้ำ          หั่นด้วยขอคม
๏ เบื้องบรมขัตติย์ท่องท้อง  แถวธาร
พระจักไล่ลุยลาญ                  เศิกไสร้
ริปูบ่รอราญ                          ฤทธิ์ราช เลยพ่อ
พระจักชาญชเยศได้              ดั่งท้าวใฝ่ฝัน
โคลง ๒
๏ ครั้นบดินทร์ดาลได้           สดับพยากรณ์ไท้
ธิราชแผ้วพูนเกษม
๏ เปรมปรีดิ์ปราโมทย์แท้     เพราะพระโหรหากแก้
กล่าวต้องตามฝัน
๏ พระพลันทรงเครื่องต้น    งามประเสริฐเลิศล้น
แหล่งหล้าควรชม ชื่นนา
๏ สมเด็จอนุชน้องแก้ว          ทรงสุภาภรณ์แพร้ว
เพริศพร้อมเพราตา ยิ่งแฮ
(ร่าย)       สองขัติยายุรยาตรา ยังเกยราชหอทัพ ขุนคชขับช้างเทียบ ทวยหาญเพียบแผ่นภู ดูมหิมาดาดาษ สระพราศพร้อมโดยขบวน องค์อดิศวรสองกษัตริย์ คอยนฤขัตรพิชัย บัดเดี๋ยวไททฤษฎี พระศรีสารีริกบรมธาตุ ไขโอภาสโศภิต ช่วงชวลิตพ่างยล ส้มเกลี้ยงกลลุก่อง ฟ่องฟ้าฝ่ายทักษิณ ผินแวดวงตรงทัพ นับ คำรบสามครา เป็นทักษิณาวรรตเวียน ว่ายฉวัดเฉวียนอัมพร ผ่านไปอุดรโดยด้าว พลางบพิตรโทท้าว ท่านตั้งสดุดี อยู่นา ฯลฯ
โคลง๔
๏ พระเปรมปราโมทย์น้อม วันทนา
พลางพระทรงไอยรา            ฤทธิ์แกล้ว
พระคเชนทร์ชื่อไชยา-          นุภาพ พ้นแฮ
อาจเข่นคชศึกแผ้ว                 แผกแพ้ทุกภาย
๏ พลายปราบไตรจักรอ้าง    เอิกฤทธิ์
อาจปราบคชทุกทิศ                ทั่วไซร้
เอกาทศรถอิศ-                       วรเสด็จ ทรงนา
นำคเชนทเรศไท้                    ธิราชเจ้าจอมสยาม ฯลฯ

ถอดคำประพันธ์
ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรก็มีรับสั่งให้โหรหาฤกษ์ที่จะยกทัพหลวงไป หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีปคำนวณพระฤกษ์ว่า พระนเรศวรได้จตุรงคโชคอาจปราบข้าศึกให้แพ้สงครามไป ขอเชิญเสด็จยกทัพออกจากพระนคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ เวลา 8.30 น. เมื่อได้มงคลฤกษ์ ทรงเคลื่อนพยุหยาตราเข้าโขลนทวาร พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่กองทัพเสด็จทางชลมารคไปประทับแรมที่ตำบลปาก โมก เมื่อประทับที่ปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกอยู่กับขุนนางผู้ใหญ่จนยามที่สามจึงเสด็จ เข้าที่บรรทม ครั้นเวลา 4 นาฬิกา พระองค์ทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิติ เรื่องราวราวในพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวรมี ว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูง ทางทิศตะวันตก เป็นแนวยาวสุดพระเนตร และพระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวและกว้างใหญ่นั้น จระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น พระองค์ใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป พอตื่นบรรทมสมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตทันที พระโหราธิบดีถวายพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเทวดาสังหรให้ทราบเป็นนัย น้ำซึ่งไหลบ่าท่วมป่าทางทิศตะวันตกหมายถึงกองทัพของมอญ จระเข้คือพระมหาอุปราชา การสงครามครั้งนี้จะเป็นการใหญ่ ขนาดถึงได้กระทำยุตธหัตถีกัน การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูของพระองค์จะต้องสิ้นชีวิตลงด้วย พระแสงของ้าว และที่พระองค์ทรงกระแสน้ำนั้น หมายความว่า พระองค์จะรุกไล่บุกฝ่าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไปไม่อาจจะทานพระบรมเด ชานุภาพได้ พอใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่ง คอยพิชัยฤกษ์อยู่ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรือง งาม ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้หมุนเวียนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรค 3 รอบ แล้วลอยวนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ทรงปิติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงสรรเสริญและนมัสการ อธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาปราบไตรจักร เคลื่อนขบวนทัพพยุหยาตราต่อไปรเสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประทับช้างทรง คือ เจ้าพระยาปราบไตรจักร เคลื่อนขบวนทัพพยุหยาตราต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น