วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ ๒ เหตุการณ์ทางเมืองมอญ


(ร่าย)       ฝ่ายพระนครรามัญ ขัณฑ์เขตด้าวอัสดง หงสาวดีบุเรศ รั่วรู้เหตุบมิหึง แห่งเอิกอึงกิดาการ ฝ่ายพสุธารออกทิศ ว่าอดิศวรกษัตรา มหาธรรมราชนรินทร์ เจ้าปถพินทร์ผ่านทวีป ดับชนมชีพพิราลัย เอารสไทนฤเบศ นเรศวรเสวยศวรรยา แจ้งกิจจาตระหนัก จึ่งพระปิ่นปักธาษตรี บุรีรัตนหงสา ธก็บัญชาพิภาษ ด้วยมวลมาตยากร ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้ บร้างรู้เหตุผล ควรยาตรพลไปเยือน เตือนประยุทธ์เอาเปรียบ แม้นไป่เรียบเป็นที โจมจู่ยี่ย่ำภพ เสนีนบนึกชอบ ระบอบเบื้องบรรหาร ธก็เอื้อนสารเสาวพจน์ แต่เอารสยศเยศ องค์อิศเรศอุปราช ให้ยกยาตราทัพ กับนครเชียงใหม่ เป็นพยุหใหญ่ห้าแสน ไปเหยียบแดนปราจิน บุตรท่านยินถ้อถ้อย ข้อยผู้ข้าบาทบงสุ์ โหรควรคงทำนาย ทายพระเคราะห์ถึงฆาต ฟังสารราชเอารส ธก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญหักศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหยอน ไปพักวอนว่าใช้ ให้ธหวงธห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ ธตรัสเยาะเยี่ยงขลาด องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว กลัวพระอาชญายอบ นอบประณตบทมูล ทูลลาไท้ลีลาศ ธก็ประกาศเกณฑ์พล บอกยุบลบ่มิหึง ถึงเชียงใหม่ตระบัด เร่งแจงจัดจตุรงค์ ลงมาสู่หงสา แล้วธให้หาเมืองออก บอกทุกแดนทุกด้าว บอกทุกท้าวทุกเทศ ทั่วทุกเขตทุกขอบ รอบสีมามณฑล ทราบนุสนธิ์ทุกแห่ง ต่างตกแต่งแสะสาร แสนยาหาญมหิมา คลาบรรลุเวียงราช แลสระพราศสระพรั่ง คั่งคับนับเหลือตรา ต่างภาษาต่างเพศ พิเศษสรรพแต่งตน ข้าศึกยลแสยงฤทธิ์ บพิตรธเทียบทัพหลวง โดยกระทรวงพยุบาตร จักยาตราตรู่เช้า เสด็จเข้านิเวศไท้ เกรียมอุระราชไหม้ หม่นเศร้าศรีสลาย อยู่นา
โคลง๒
๏ พระผาดผายสู่ห้อง             หาอนุชนวลน้อง
หนุ่มหน้าพระสนม
๏ ปวงประนมนบเกล้า          งามเสงี่ยมเฟื้ยมเฝ้า
อยู่ถ้าทูลสนอง
๏ กรตระกองกอดแก้ว         เรียมจักร้างรสแคล้ว
คลาดเคล้าคลาสมร
๏ จำใจจรจากสร้อย               อยู่แม่อย่าละห้อย
ห่อนช้าคืนสม                        แม่แล ฯลฯ
(ร่าย)       เสร็จเสาวนีย์สั่งสนม เนืองบังคมคำราช พระบาททันนิทรา จวนเวลาล่วงสาง พื้นนภางค์เผือดดาว แสงเงินขาวขอบฟ้า แสงทองจ้าจับเมฆ รังสีเฉกฉายฉัน ไก่แก้วขันเจื้อยแจ้ว ดุเหว่าแหว้วเสียงใส จึ่งบรมไทธิราช ยุรยาตรยังที่สรง ชำระองค์บนาน ทรงสุคนธ์ธารกลิ่นตรลบ หอมอวลอบอายขจร ทรงบวรวิภูษิต สนับเพลาพิศพรายพร้อย ชายไหวย้อยยะยาบ ชายแครงทาบเครือวัลย์ รัตพัสตร์พรรณยรรยง ฉลองพระองค์เพริศแพร้ว มกรแก้วเกยูร ตาบไพฑูรย์เรืองจรัส สะอิ้งรัตนประพาฬ สอดสังวาลเฉวียงองค์ มกุฎทรงเทริดเกศ อย่างอิศเรศรามัญ สรรเป็นรูปอุรเคนทร์ เพญพะพานแผ่เศรียร แสงวิเชียรช่อช่วง ธำมรงค์ร่วงรุ้งพราย รายนพรัตน์ชัชวาล เครื่องอลงการโอ่อ่า งามสง่าขัตติเยศ พระแสดงเดชผังผาย กุมแสงกรายกรนาด ยุรยาตรอย่างไกรสร จากศีขรคูหา ลีลายังวังราช ไหว้บัวบาทบิตุรงค์ ขอลาองค์ท่านไท้ ไปเผด็จดัสกรให้ เหือดเสี้ยนศึกสยาม สิ้นนา
โคลง๒
๏ พระฟังความลูกท้าว          ลาเสด็จศึกด้าว
ดั่งเบื้องบรรหาร
โคลง๓
๏ ภูบาลอื้นอำนวย                   อวยพระพรเลิศล้น
จงอยุธย์อย่าพ้น                     แห่งเงื้อมมือเทอญ พ่อนา
โคลง๔
๏ จงเจริญชเยศด้วย               เดชะ
ชาวอยุธย์อย่าพะ                    พ่อได้
จงแพ้พินาศพระ                     วิริยภาพ พ่อนา
ชนะแด่สองท่านไท้               ธิราชเจ้าจอมสยาม
๏ สงครามความเศิกซึ้ง          แสนกล
จงพ่ออย่ายินยล                     แต่ตื้น
อย่าลองคะนองตน                ตาชอบทำนา
การศึกลึกเล่ห์พื้น                 ล่อเลี้ยวหลอกหลอน
๏ จงแจ้งแห่งเหตุเบื้อง           โบราณ
เป็นประโยชน์ยุทธการ         กล่าวไว้
เอาใจทหารหาญ                    เริงรื่น อยู่นา
อย่าระคนปนใกล้                 เกลือกกลั้วขลาดเขลา
๏ หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้            สบสถาน
เจนจิตวิทยาการ                     กาจแกล้ว
รู้เชิงพิชัยชาญ                        ชุมค่าย ควรนา
อาจจักรอนรณแผ้ว                แผกแพ้พังหนี
๏ หนึ่งรู้บำเหน็จให้               ขุนพล
อันสมรรถมือผจญ                 จืดเสี้ยน
อย่าหย่อนวิริยะยล                อย่างเกียจ
แปดประการกลเที้ยร            ถ่องแท้ทางแถลง
๏ จงจำคำพ่อไซร้                   สั่งสอน
จงประสิทธิ์สมพร                    พ่อให้
จงเรืองพระฤทธิ์รอน            อริราช
จงพ่อลุลาภได้                       เผด็จด้าวแดนสยาม
(ร่าย)       เสด็จสั่งความโอวาท ไท้ธประสาทพระพร แต่ภูธรเอารส ธก็ประณตรับคำ อำลาท้าวลีลาศ ยุรยาตรยังเกยชัย เสนาในเตรียมทัพ สรรพพลห้าสิบหมื่น ขุนคชหื่นหาญแกล้ว ขับช้างแก้วพัทธกอ รอรับราชริมเกย ควาญเคยคัดท้ายเทียบ เสด็จย่างเหยียบหลังสาร ทรงคชาธารยรรยง อลงกตแก้วแกมกาญจน์ เครื่องพุดตานตกแต่ง แข่งสีทองทอเนตร ปักเศวตฉัตรฉานฉาย คลายคชบาทยาตรา คลี่พยุหคลาดแคล้ว คล้ายนายทแกล้ว ย่างเยื้องธงทอง แลนา ฯลฯ
โคลง๒
๏ ถับถึงทวารกรุงแก้ว            เดียรดาษพลคลาดแคล้ว
คล่ำคล้ายคลาขบวน
โคลง๓
๏ ด่วนเดินโดยโขลนทวาร       พวกพลหาญแห่หน้า
ล้วนทแกล้วทกล้า                   กลาดกลุ้มเกลื่อนสถล มารคนา ฯลฯ
ถอดคำประพันธ์   
ฝ่าย นครรามัญ คือ หงสาวดี ทราบข่าวว่าพระมหาธรรมราชากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาถึงแก่พิราลัย พระราชโอรส คือ พระนเรศวรได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงได้ประชุมหมู่อำมาตย์ปรึกษากันว่า กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บางทีโอรสทั้งสองพระองค์อาจจะวิวาทกันเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ เราควรยกทัพไปดูลาดเลา ถ้าได้เปรียบก็จะได้รบแย่งชิงเอาบ้านเมืองเสีย ขุนนางทั้งหลายต่างก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาราชโอรสจัดเตรียมทัพพร้อมด้วยทัพเมืองเชียงใหม่ เป็นจำนวนห้าแสนคนยกไปตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชากราบบังคมทูลว่าโหรทำนายว่าพระองค์เคราะห์ร้ายชะตาถึงฆาต พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสเป็นเชิงประชดว่า “เจ้า อยุธยามีโอรสเก่งกล้าสามารถในการรบ ไม่ต้องให้พระบิดาใช้ แต่กลับต้องไม่ให้ทำศึกเสียอีก ถ้าเจ้าเกรงว่าเคราะห์ร้ายก็อย่าไปรบเลย เอาผ้าสตรีมานุ่งเถอะจะได้หมดเคราะห์” พระมหาอุป ราชาทรงอับอายขุนนางข้าราชการเป็นอันมาก จึงเตรียมยกทัพโดยเกณฑ์จากหัวเมืองต่างๆรวมจำนวนห้าแสนคนเตรียมยกทัพไปใน เวลาเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น แล้วเสด็จกลับตำหนักสั่งลาพระสนมทั้งหลายด้วยความอาวรณ์จนถึงรุ่งเช้า ยังไม่ทันสว่างก็แต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จแล้วก็ไปเฝ้าพระราชบิดาเพื่อ ทูลลาไปราชสงคราม ณ กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีก็พระราชทานพรให้ชนะศึกสยามใน ครั้งนี้ แล้วก็ทรงเตือนว่าสงครามนั้นมากด้วยกลอุบาย อย่าคิดอะไรตื้นๆ อย่าทะนงตน แล้วทรงชี้เรื่องที่โบราณสั่งสอนไว้ที่เป็นประโยชน์ต่อการรบ คือ โอวาท 8 ประการ
1. อย่าเป็นคนหูเบา (จงพ่อย่ายินยล แต่ตื้น)
2. อย่าทำอะไรตามใจตนเอง ไม่นึกถึงใจผู้อื่น (อย่าลองคะนองตน ตามชอบ ทำนา)
3. รู้จักเอาใจทหารให้หึกเหิมอยู่เสมอ (เอาใจทหารหาญ เริงรื่น อยู่นา)
4. อย่าไว้ใจคนขี้ขลาดและคนโง่ (อย่าระคนปนใกล้ เกลือกกลั้วขลาดเขลา)
5. ควรรอบรู้ในการจัดกระบวนทัพทุกรูปแบบ (หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้ สบสถาน)
6. รู้หลักพิชัยสงคราม การตั้งค่าย (รู้เชิงพิชัยชาญ ชุมค่าย ควรนา)
7. รู้จักให้บำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่เก่งกล้า (หนึ่งรู้บำเหน็จให้ ขุนพล อันสมรรถมือผจญ จืดเสี้ยน)
8. อย่าลดความเพียรหรืออย่าเกียจคร้าน (อย่าหย่อนวิริยะยล อย่างเกียจ)
ครั้งทรงรับโอวาทและคำประสาทพรแล้ว ก็กราบบังคมลามาที่เกยประทับบนหลังช้างพระที่นั่งพลายพัทธกอ ยกกองทัพออกจากพระนครผ่านโขลนทวารเสด็จพระราชดำเนินไปโดยทางสถลมารคทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น